ซ่อมกระเบื้องยาง | มีกี่ขั้นตอน ต้องเริ่มยังไง

484 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ซ่อมกระเบื้องยาง มีกี่ขั้นตอน ต้องเริ่มยังไง

กระเบื้องยางปูพื้น ทางเลือกยอดฮิตสำหรับพื้นบ้านช่วงหลายปีมานี้ เนื่องเพราะความสวยงามฟีลธรรมชาติ วัสดุไวนิลความทนทานสูง และราคาที่ไม่สูงเกิน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเวลานาน พื้นที่เราใช้งานทุกวันก็อาจเกิดความเสียหายได้บ้างเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการหลุดร่อนหรือเสียรูปทรง

การซ่อมกระเบื้องยางนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องทำอย่างรอบคอบและรู้วิธีการที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดูดีเหมือนใหม่ ไม่ว่าใครก็ทำได้ ด้วยขั้นตอนตามต่อไปนี้ครับ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

1. เตรียมตัวก่อนซ่อมกระเบื้องยาง

การซ่อมกระเบื้องยาง เริ่มต้นด้วยการสำรวจพื้นที่ที่เสียหายก่อน เพื่อทำความเข้าใจความเสียหายนั้น ว่ามีขนาดและลักษณะอย่างไร เมื่อทราบถึงขอบเขตงานที่ต้องทำ จึงวางแผนซ่อมแซมและเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม

สำรวจความเสียหาย

ก่อนอื่นเลย คือต้องสำรวจพื้นที่ที่เสียหายอย่างละเอียด เพื่อประเมินว่าเสียหายในระดับใด หากเสียหายเพียงเล็กน้อย อย่างเช่นการหลุดร่อน หรือแตกหักเพียงเล็กน้อย ก็สามารถที่จะซ่อมกระเบื้องยางด้วยตัวเองได้ แต่กรณีที่เสียหายมาก หรือรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เราแนะนำให้จ้างช่างมาซ่อมแซมให้จะดีกว่า

เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมกระเบื้องยาง ในขั้นตอนนี้อาจจะใช้สีหรือดินสอที่เห็นได้ชัดเจน เขียนทำเครื่องหมายเอาไว้ก่อนได้

ในการสำรวจความเสียหาย ต้องตรวจสอบเรื่องต่อไปนี้

  • ขอบเขตของความเสียหาย เกิดขึ้นบริเวณไหนบ้าง
  • อาการที่เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการหลุดร่อน แตกหัก รอยขีดข่วน หรือสีซีดและอื่น ๆ พร้อมประเมินความรุนแรง ว่าอยู่ในระดับใด
  • สาเหตุของความเสียหาย ว่าเกิดจากอะไร

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  1. แผ่นกระเบื้องยางใหม่ จำเป็นต้องเลือกสี ความหนา และขนาดให้ตรงกับของเดิมมากที่สุด ยี่ห้อเดิมรุ่นเดิมได้จะดีที่สุด
  2. กาวปูกระเบื้องยาง
  3. เกรียง
  4. อลูมิเนียมฟอยล์ และเตารีด
  5. ค้อนยาง
  6. คัตเตอร์
  7. ไม้บรรทัด และปากกาหรือดินสอ สำหรับใช้ทำเครื่องหมาย
  8. อุปกรณ์ทำความสะอาดทั่วไป

2. ขั้นตอนการซ่อมแซมกระเบื้องยาง

เมื่อสำรวจความเสียหาย และเตรียมอุปกรณ์ซ่อมกระเบื้องยางเรียบร้อย ก็จะเริ่มซ่อมแซมส่วนที่เสียด้วยการแกะกระเบื้องยางเก่าออก แล้วติดแผ่นใหม่กลับเข้าไป มีวิธีทำตามต่อไปนี้

วิธีแกะกระเบื้องยางเก่า และทำความสะอาดพื้นเดิม

แกะกระเบื้องยาง วิธีเอากระเบื้องยางออก

  1. เตรียมพื้นที่ให้พร้อม ก่อนเริ่มแกะกระเบื้องยางเก่า ด้วยการเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ หรือวัสดุอื่น ๆ ออกจากพื้นที่ทำงาน
  2. ใช้แผ่นฟอยล์ปิดทาบลงบนแผ่นที่จะเปลี่ยน แล้วใช้เตารีดปรับความร้อนปานกลาง รีดลงไปบนแผ่นฟอยล์ เพื่อให้กระเบื้องยางอ่อนตัว
  3. นำคัตเตอร์กรีดแผ่นที่จะเปลี่ยน และใช้เกรียงโป๊วแซะส่วนกระเบื้องยางที่พังออก จากนั้นขูดเอาคราบกาวเดิมที่ติดพื้นออกให้สะอาด
  4. ใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยาทำความสะอาด ขัดพื้นเดิมบริเวณที่แกะกระเบื้องยางออก และตรวจสอบจนแน่ใจ ว่าพื้นที่แห้งสนิทก่อนจะติดแผ่นใหม่

หลังแกะกระเบื้องยาง ใช้เกรียงแซะคราบกาวเดิม

วิธีการติดกระเบื้องยางแผ่นใหม่

การติดกระเบื้องยาง

  1. วัดขนาดพื้นบริเวณที่จะซ่อมกระเบื้องยาง และตัดแผ่นจะใช้ให้เท่ากับขนาดนั้น
  2. นำกระเบื้องยางแผ่นใหม่มาทำให้อ่อนตัว ด้วยการใช้เตารีดความร้อนปานกลาง รีดลงไปบนแผ่นฟอยล์ที่ปิดทาบไว้
  3. ทากาวที่พื้นให้เรียบร้อย แล้ววางแผ่นกระเบื้องยางใหม่กดลงให้แนบกับพื้น ใช้ค้อนยางเคาะเบา ๆ ให้ทั่วแผ่นจนแนบแน่นพื้น
  4. ตรวจดูความเรียบร้อย หากลูบแล้วรู้สึกไม่เรียบ ให้ใช้กระดาษทรายขัดแต่งทำความสะอาดกาวส่วนที่เลอะ หรือวางของหนักทับไว้ 1 วัน (24 ชม.) เมื่อเรียบเนียนจึงใช้เดินได้ปกติ

3. วิธีการดูแลรักษาพื้นกระเบื้องยางหลังซ่อมแซม

ส่วนสำคัญที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของกระเบื้องยาง เพื่อรักษาความสวยงามให้คงทนนานขึ้น รวมถึงช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดในอนาคต และลดความจำเป็นในการซ่อมแซมซ้ำ

ทำความสะอาดหลังซ่อมกระเบื้องยาง

  1. หลังจากติดกระเบื้องยางแผ่นใหม่ ให้ใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่น เพื่อเอาเศษสกปรกอย่าง ฝุ่น ก้อนกรวด และเศษดินออก
  2. ทิ้งไว้ 1-3 วัน เพื่อรอให้กาวเซ็ตตัว ถึงจะเริ่มถูทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำแห้งหมาดได้
  3. กรณีเป็นคราบสกปรก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นถูวนอย่างเบามือ หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดชนิดอ่อนผสมเข้าไปด้วย แล้วจึงค่อย ๆ เช็ดออก

การป้องกันความเสียหาย ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ

  1. ทำความสะอาดเป็นประจำ ด้วยการกวาด ดูดฝุ่น และการถูอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง - ทำความสะอาดกระเบื้องยาง สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
  2. ใช้พรมหรือเสื่อ ปูพื้นบริเวณทางเข้าห้อง เพื่อป้องกันฝุ่นและเศษสิ่งสกปรก
  3. ติดแผ่นกันรอยที่ขาของเฟอร์นิเจอร์ ช่วยลดแรงกดทับจุดเดียวเป็นเวลานาน
  4. หากมีแดดแรงส่องเข้ามาในห้อง ควรต้องเลื่อนม่าน หรือมู่ลี่ปิด เพื่อป้องกันสีพื้นซีดจาง
  5. หลีกเลี่ยงการวางเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ปล่อยลมร้อนออกมาเกิน 120 องศาฟาเรนไฮด์ (49 องศาเซลเซียส) ใกล้กับพื้นเกินไป

สรุป

สรุปแล้ววิธีการ ซ่อมกระเบื้องยาง เริ่มต้นด้วยการสำรวจพื้นที่ที่เสียหาย ตั้งแต่ขอบเขตความเสียหาย อาการที่เกิด และสาเหตุว่าเกิดจากอะไร รวมถึงต้องเตรียมอุปกรณ์ซ่อมกระเบื้องยางให้เรียบร้อย ในส่วนของการซ่อมแซม จะประกอบด้วยวิธีการแกะ และวิธีการติดกระเบื้องยางแผ่นใหม่กลับเข้าไป

หลังซ่อมกระเบื้องยางเรียบร้อยดีแล้ว หากไม่อยากพบปัญหาเดิมซ้ำ ๆ คุณจำเป็นต้องทำความสะอาดพื้นอยู่เสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาพื้นกระเบื้องยางอย่างรอบคอบ

ขออนุญาตขายของ

ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วไม่อยากจะเสียเวลาซ่อมกระเบื้องยางที่เสียหายด้วยตัวเอง พวกเราบริษัท SJ Sourcing มีบริการจำหน่ายสินค้า ซ่อมแซม และให้คำแนะนำครบจบในที่เดียว ติดต่อเราช่องทางด้านล่างเลยครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้