โฟมรองพื้น (PE , IXPE) มีประโยชน์อะไรบ้าง ?

2158 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โฟมรองพื้น

ขั้นตอนการปูกระเบื้องยาง มีส่วนสำคัญอย่างนึงที่คุณควรรู้ นั่นก็คือ “ โฟมรองพื้น ” ครับ ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจยังไม่เข้าใจ ว่าทำไมต้องปูแผ่นโฟมรองพื้นทับพื้นเดิมก่อน และคำว่า PE กับ IXPE ที่ต่อท้ายโฟมรองพื้น มันคืออะไรกันแน่ ? บทความนี้จะช่วยให้คุณตาสว่าง เหมือนดื่มกาแฟเลยครับ

โฟมรองพื้น คืออะไร

โฟมรองพื้น (Foam Underlay) คืออะไร

โฟมรองพื้น (Foam Underlay) คือแผ่นโฟมสำหรับปูทับพื้นเดิม ก่อนที่จะเริ่มติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต หรือกระเบื้องยางบางชนิด ทำหน้าที่รองรับพื้นผิวด้านบน เพื่อช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับพื้น ทำให้อายุการใช้งานยาวนานมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์หลัก โฟมรองพื้น

  • ปรับระดับพื้น กรณีที่พื้นเดิมมีความเรียบไม่เท่ากันเพียงเล็กน้อย โฟมรองพื้นจะสามารถช่วยยืดหยุ่นให้การติดตั้งพื้นได้ระดับเรียบเท่ากันพอดี
  • ซับแรงกระแทก ลดเสียงดังจากการเดิน แผ่นโฟมสามารถช่วยดูดซับเสียงได้ ทำให้เวลาเดินจะไม่เกิดเสียงกระทบใด ๆ ที่สร้างความรำคาญ แต่จะให้ความรู้สึกที่หนักแน่น ไม่ก๊อกแก๊ก
  • ป้องกันความชื้นจากพื้นเดิม ทำหน้าที่เป็นเกราะไม่ให้พื้นไม้ หรือกระเบื้องยางสัมผัสกับพื้นเดิมโดยตรง ช่วยยืดอายุการใช้งานของพื้นได้เป็นอย่างดี

ประเภทของ โฟมรองพื้น

โฟมรองพื้นประเภท PE กับ IXPE

ปัจจุบัน (ปี 2566) มีโฟมรองพื้นที่ได้รับความนิยม สำหรับการปูพื้นไม้ หรือกระเบื้องยาง อยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ตามนี้เลยครับ

1. โฟมรองพื้น PE

โฟม PE รองพื้น

โฟม PE รองพื้น ทำจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (Polyethylene) ด้วยกระบวนการใช้สารขยายตัว ทำให้เกิดโพรงแก๊สขึ้นในเนื้อพลาสติก ส่วนมากจะเป็นสีขาว มีความหนา 2 มิลลิเมตร ขนาดของโฟมรองพื้น PE ที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ 1.30 x 15 เมตร

2. โฟมรองพื้น IXPE

โฟม IXPE รองพื้น

โฟมรองพื้น IXPE (Irradiated Cross-Linked Polyethylene) ทำจากเม็ดพลาสติก LDPE หรือพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ ส่วนมากจะเป็นสีดำ ด้วยกระบวนการฉายรังสีความร้อนเพื่อขึ้นโครงสร้างแบบฟองตาข่ายภายในตัวโฟม มีความหนาเพียง 1 มิลลิเมตร แต่ความหนาแน่นสูงกว่าโฟมรองพื้น PE เพราะเป็นเซลล์แบบปิด

เปรียบเทียบ โฟมรองพื้น PE กับ IXPE

ตารางเปรียบเทียบ โฟมรองพื้น PE กับ IXPE
คุณสมบัติ
โฟมรองพื้น PE
โฟมรองพื้น IXPE
วัสดุการผลิต
โพลิเอทิลีน
โพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE)
การผลิต
ใช้สารขยายตัว ทำให้เกิดโพรงแก๊สในเนื้อพลาสติก
ใช้การฉายรังสีความร้อน ขึ้นโครงสร้างแบบฟองตาข่ายภายในตัวโฟม
เซลล์
เซลล์แบบเปิด
เซลล์แบบปิด
ความหนา
2 มิลลิเมตร
1 มิลลิเมตร
ความยืดหยุ่น
ยืดหยุ่นปานกลาง
ยืดหยุ่นสูง
กันน้ำ/ความชื้น
กันน้ำความชื้นได้ดี
กันน้ำความชื้นดีกว่ามาก
ทนไฟ/ความร้อนสูง
ไม่ทนไฟ
ทนไฟ
ราคา
ราคาถูก ไม่แพง
ราคาค่อนข้างสูง


ขั้นตอนการปูโฟมรองพื้น ฉบับทั่วไป

1. เตรียมพื้น

ด้วยการทำความพื้นเดิมให้สะอาดและแห้ง ซ่อมแซมพื้นเดิมที่เสียหายให้เรียบร้อย กรณีที่พื้นไม่เรียบเท่ากันมาก คุณจำเป็นต้องปรับระดับพื้นก่อนให้เรียบร้อย - 5 เคล็ด(ไม่)ลับ เตรียมพื้นปูกระเบื้องยาง

2. เริ่มปูโฟมรองพื้น

เริ่มจากวัดขนาดบริเวณพื้นที่ต้องการปูโฟมรองพื้น ตัดโฟมให้ได้ขนาดตรงตามที่วัด และเริ่มปูโฟมทับพื้นเดิม โดยให้รอยต่อของแผ่นทับซ้อนกันเล็กน้อย จากนั้น ให้ทากาวหรือติดเทปยึดโฟมรองพื้น เพื่อป้องกันการเลื่อนหลุด

3. ตรวจสอบความเรียบร้อย

หลังจากปูโฟมรองพื้นจนทั่วแล้ว อย่าลืมตรวจสอบความเรียบร้อยด้วยนะครับ ว่าโฟมปูได้เรียบเสมอกัน และรอยต่อระหว่างแผ่นทับซ้อนเท่ากันพอดี

คำแนะนำเพิ่มเติม

  • ไม่ควรเลือกใช้โฟมรองพื้นที่ชำรุดเสียหาย เช่น เกิดรอยขาด หรือมีรูระหว่างแผ่น
  • ในขั้นตอนการเตรียมพื้น หากยังมีความชื้นอยู่ ก็ยังไม่ควรที่จะปูโฟมรองพื้น

สรุป

สรุปแล้ว โฟมรองพื้น (Foam Underlay) เป็นแผ่นโฟมสำหรับปูทับพื้นเดิม ก่อนที่จะเริ่มติดตั้งพื้นไม้ หรือกระเบื้องยางชนิดใด ๆ เพราะมีประโยชน์ช่วยปรับระดับพื้น กรณีที่พื้นเดิมมีความเรียบไม่เท่ากันเล็กน้อย ช่วยซับแรงกระแทก ลดเสียงดังจากการเดิน และป้องกันความชื้นจากพื้นเดิมด้านล่าง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้