ปูกระเบื้องยาง วิธีการทำอย่างไร ให้สวยแบบช่าง ?

4415 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปูกระเบื้องยาง วิธีการทำอย่างไร

ปัจจุบันปี 2023 กระเบื้องยาง เป็นวัสดุปูพื้นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะคุณสมบัติกันน้ำ ความชื้น และความทนทานแข็งแรง ที่สามารถทำได้ดีกว่าไม้จริงเป็นอย่างมาก

หากคุณกำลังหาวิธีการ ปูกระเบื้องยาง ที่สามารถทำตามได้จริง ในบทความนี้ ผมได้เรียบเรียงเนื้อหาตั้งแต่ ขั้นตอนการเตรียมพื้นก่อนปูกระเบื้องยาง จนถึงวิธีปูกระเบื้องยางด้วยการติดตั้งทั้ง 2 แบบอย่างละเอียดไว้ให้แล้วครับ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ก่อนปูกระเบื้องยาง จะต้องสำรวจพื้นเดิม

ก่อนปูกระเบื้องยาง จะต้องสำรวจพื้นเดิม

ก่อนไปดูวิธีการปูกระเบื้องยาง ผมอยากให้คุณลองเช็คสภาพพื้นเดิมเบื้องต้นก่อน ตั้งแต่การคำนวณตารางเมตรของพื้นบริเวณที่จะปูกระเบื้องยาง และตรวจสอบระดับของพื้น ว่าเรียบเสมอกัน ไม่มีความชื้นมากเกินไป และเป็นหลุมหรือบ่อไหม ? เพราะถ้าหากพื้นเดิมของคุณมีปัญหา ก็ควรที่จะซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนครับ

โดยขั้นตอนที่สามารถทำได้ดี มีประสิทธิภาพ และสะดวกมากที่สุด ก็คือการปรับระดับพื้นด้วยปูนปรับระดับครับ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ สามารถใช้งานได้ง่ายเพียงผสมน้ำตามอัตราส่วนที่กำหนด

เลือกแพทเทิร์นปูกระเบื้องยาง

การเลือกแพทเทิร์น หรือรูปแบบปูกระเบื้องยาง เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะลงมือติดตั้งจริง และบางคนก็อาจจะยังไม่ทราบ ว่าการปูกระเบื้องยางนั้น ไม่ได้มีแค่ลายแรนดอมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ปูกระเบื้องยาง ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

  1. กระเบื้องยาง *ควรซื้อเผื่อตัดแต่ง 5-10%
  2. โฟมรองพื้น
  3. มีดคัตเตอร์
  4. ค้อนยาง
  5. ตลับเมตร
  6. บักเต้าตีเส้น

อุปกรณ์เพิ่มเติม สำหรับการติดตั้งแบบทากาว/ปูกาว

  1. กาวขาวปูพื้น
  2. เกรียงปาดกาว
  3. ลูกกลิ้ง 30-50 กิโลกรัม

การปูกระเบื้องยาง มีกี่แบบ

ให้เข้าใจแบบนี้ครับ ว่าการปูกระเบื้องยางนั้นมี 2 แบบ คือแบบทากาว กับแบบคลิ๊กล็อค ทำให้มีวิธีการติดตั้งที่แตกต่างกัน แต่ก่อนจะไปดูวิธีปูกระเบื้องยางอย่างละเอียด ผมจะขออธิบายส่วนนี้ให้คุณเข้าใจมากขึ้นก่อนครับ

  • แบบทากาว/ปูกาว (Dry Back) : เป็นกระเบื้องยางที่ต้องใช้กาวในการติดตั้ง แต่จะไม่มีกาวติดมาจากโรงงาน จึงต้องใช้กาวขาวสำหรับปูพื้น และหลังจากปูเสร็จอาจใช้เวลา 1-2 วัน เพื่อรอกาวเซ็ตตัวถึงจะพร้อมใช้งาน

กระเบื้องยางแบบทากาว/ปูกาว (Dry Back)

  • แบบคลิ๊กล็อค (Click Lock) : เป็นกระเบื้องยางที่ไม่ต้องใช้กาวในการติดตั้ง แต่จะใช้ระบบล็อคกันเองระหว่างแผ่น ทำให้ติดตั้งได้สะดวก รวดเร็ว พร้อมใช้งานทันทีหลังปูเสร็จ

กระเบื้องยางแบบคลิ๊กล็อค (Click Lock)

วิธีปูกระเบื้องยาง แบบทากาว (Dry back)

  • ขั้นตอนที่ 1 จับแนววาง กำหนดทิศทางปูกระเบื้องยาง

ขั้นตอนที่ 1 จับแนววาง กำหนดทิศทางปูกระเบื้องยาง แบบทากาว

ให้คุณกำหนดทิศทางปูกระเบื้องยาง ด้วยการเลือกจุดที่เหมาะที่สุด ในการปูกระเบื้องยางแผ่นแรกจนถึงแผ่นสุดท้าย เพื่อให้เหลือส่วนที่ถูกตัดแต่งออกน้อยที่สุด และเมื่อกำหนดแนววางได้แล้ว ให้คุณทำเครื่องหมาย จุดเริ่ม กับ จุดจบ ไว้ทันที

เทคนิค กรณีห้องที่มีขนาดเล็ก ให้เริ่มปูกระเบื้องยางจากประตูเข้าไป แต่ถ้าห้องมีขนาดใหญ่ ให้เริ่มจากแนวกลางฝั่งผนังที่ยาวที่สุดครับ

  • ขั้นตอนที่ 2 ทากาวขาวปูพื้น

ขั้นตอนที่ 2 ทากาวขาวปูพื้น

ทากาวลงบนพื้น ด้วยการใช้เกรียงชุบกาวแล้วปาดให้ทั่วบริเวณที่จะติดตั้ง แนะนำ ให้ทากาวประมาณ 2-3 แถวแรกก่อน เพื่อให้คุณยังพอที่จะเอื้อมตัวไปถึงครับ

  • ขั้นตอนที่ 3 เริ่มปูกระเบื้องยาง

ขั้นตอนที่ 3 เริ่มปูกระเบื้องยาง แบบทากาว

รอกาวเปลี่ยนสีจากคาบสีขาวเป็นสีใส ประมาณ 15-20 นาที จึงสามารถเริ่มปูกระเบื้องยางแผ่นแรก ตามทิศทางที่กำหนดไว้ และวางแผ่นต่อไปเรื่อย ๆ

  • ขั้นตอนที่ 4 งานเก็บเศษ

ขั้นตอนที่ 4 งานเก็บเศษปูกระเบื้องยาง แบบทากาว

ท้ายสุดของแถว อาจจะเหลือช่องว่างไม่พอดีกับแผ่นกระเบื้องยาง แต่ คุณสามารถนำแผ่นใหม่มาวางทาบและวัดความยาวที่ต้องใช้ด้วยไม้ฉาก จากนั้นตัดด้วยคัตเตอร์ ก็จะได้เศษที่ต้องใช้พอดีครับ สำหรับส่วนที่เหลือจากการตัดเศษไปใช้ ให้นำมาขึ้นแถวใหม่ได้เลย

  • ขั้นตอนที่ 5 ปูกระเบื้องยางให้เต็มพื้นที่

ขั้นตอนที่ 5 ปูกระเบื้องแบบทากาวให้เต็มพื้นที่

ทำวนข้อ 2-4 จนเสร็จแถวที่ 2 และแถวต่อ ๆ ไป จนเต็มพื้นที่ และหลังปูกระเบื้องยางแบบทากาวเสร็จ ให้คุณตรวจสอบความเรียบร้อยงานติดตั้ง ด้วยการใช้ลูกกลิ้งเหล็กกดทับให้ทั่วบริเวณ หรือหากคุณพบกาวที่ปริ้นออกมา ก็สามารถเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำแห้งหมาดได้ครับ

ตรวจสอบความเรียบร้อยหลังปูกระเบื้องยางแบบทากาวเสร็จ

วิธีปูกระเบื้องยาง แบบคลิ๊กล็อค (Click Lock)

  • ขั้นตอนที่ 1 จับแนววาง กำหนดทิศทาง

กำหนดทิศทางปูกระเบื้องยาง เหมือนกับ (ข้อ 1.) แบบทากาวเลยครับ เพื่อให้เหลือส่วนที่ถูกตัดแต่งออกน้อยที่สุด

  • ขั้นตอนที่ 2 ปูแผ่นโฟมรองพื้น

ขั้นตอนที่ 2 ปูแผ่นโฟมรองพื้น สำหรับปูกระเบื้องยางแบบคลิ๊กล็อค

ปูแผ่นโฟมรองพื้น เพื่อช่วยให้การปูกระเบื้องยางแบบคลิ๊กล็อคได้ระดับเท่ากันทุกแผ่นมากที่สุด นอกจากนี้ โฟมรองพื้นยังมีคุณสมบัติช่วยป้องกันความชื้นจากพื้นเดิม และสามารถช่วยลดเสียงดังจากการเดินได้อีกด้วยครับ

  • ขั้นตอนที่ 3 เริ่มปูกระเบื้องยาง โดยเว้นระยะห่างพื้นกับผนัง

ขั้นตอนที่ 3 เริ่มปูกระเบื้องยาง แบบคลิ๊กล็อค

เริ่มปูกระเบื้องยางที่มุมด้านบนซ้าย ด้วยการใช้ลิ่มเว้นระยะห่างของพื้นกับผนังทั้ง 2 ด้าน ประมาณ 6 มม. เผื่อสำหรับติดบัวพื้นเก็บงาน จากนั้น นำแผ่นที่ 2 มาวางต่อด้วยการเสียบลิ่มให้ห่างจากผนังประมาณ 6 มม. โดยการเอียงแผ่นทำมุม เข้าหาร่องรับด้านข้างของแผ่นแรก

  • ขั้นตอนที่ 4 ปูกระเบื้องยางแผ่นต่อ ๆ ไป

ขั้นตอนที่ 4 ปูกระเบื้องยางแบบคลิ๊กล็อคแผ่นต่อ ๆ ไป

ทุบเบา ๆ ด้วยค้อนยางให้ข้อต่อ (คลิ๊กล็อค) เข้าหากันแนบสนิท จากนั้น ทำวนข้อ 3 จนเสร็จแถวแรก

  • ขั้นตอนที่ 5 งานเก็บเศษ

ขั้นตอนที่ 5 งานเก็บเศษปูกระเบื้องยาง แบบคลิ๊กล็อค

ส่วนท้ายสุดของแถว ที่เหลือช่องว่างไม่พอดีกับแผ่นกระเบื้องยาง คุณสามารถใช้วิธีคล้ายกันกับแบบทากาว (ข้อ 4.) ด้วยการตัดจากแผ่นใหม่มาใช้ และนำแผ่นเศษที่เหลือไปขึ้นแถวใหม่ เพียงแต่จะต้องเผื่อระยะห่างจากผนัง 6 มม. ด้วยนะครับ

  • ขั้นตอนที่ 6 เริ่มปูแถวใหม่ด้วยแผ่นเศษ

ขั้นตอนที่ 6 เริ่มปูแถวใหม่ด้วยแผ่นเศษ

เริ่มปูแถวต่อไป ด้วยการนำแผ่นเศษหลังตัดให้แถวแรกมาใช้ โดยจะต้องมีความยาวเหลือไม่ต่ำกว่า 30 ซม. และเริ่มจากด้านซ้าย ด้วยการยกแผ่นเอียงทำมุมเข้าหาร่องรับด้านบนแถวแรก แล้ววางลง จากนั้น นำแผ่นต่อ ๆ ไปมาปูต่อจากแผ่นเศษ ด้วยการยกแผ่นเอียงทำมุมเข้าหาร่องรับด้านข้างกับด้านบนของแถวแรก แล้ววางลง

  • ขั้นตอนที่ 7 ปูแถวต่อ ๆ ไป จนเต็มพื้นที่

ขั้นตอนที่ 7 ปูกระเบื้องยางแบบคลิ๊กล็อคแถวต่อ ๆ ไป จนเต็มพื้นที่

ทำวนข้อ 4-7 จนเสร็จแถวที่ 2 และแถวต่อ ๆ ไป หลังจากปูกระเบื้องยางไปแล้ว 2-3 แถว ให้คุณตรวจสอบ ระยะห่างของผนังกับแผ่นพื้นให้ได้ 6 มม. และลิ่มจะต้องแน่นอยู่ในตำแหน่งเดิมเสมอ

หลังจากปูกระเบื้องยางจนเต็มพื้นที่แล้ว ก็ถือว่าเสร็จสิ้นพร้อมใช้งาน แต่ … เรายังมีขอบที่เว้นไว้ห่างจากผนังประมาณ 6 มม. ที่เผื่อไว้สำหรับติดอุปกรณ์เสริมนั่นเอง และผมขอขยายความเรื่องนี้ ไว้ที่หัวข้อถัดไปครับ

เก็บงานปูกระเบื้องยางด้วยอุปกรณ์เสริม

หลังจากที่ปูกระเบื้องยางเต็มพื้นที่แล้ว ผมแนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมบัวตัวจบด้วยครับ เพื่อให้ปกปิดช่องว่างรอยต่อที่ดูแล้วยังไม่เรียบร้อยดี และยังมีประโยชน์ช่วยป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปสะสมที่ขอบมุมต่าง ๆ ได้อีกด้วย

1. บัวพื้น ปิดรอยต่อระหว่างพื้นกับผนัง

อุปกรณ์เสริมหลังปูกระเบื้องยาง บัวพื้น

เป็นอุปกรณ์เสริมหลังปูกระเบื้องยาง ที่ทำหน้าที่ช่วยปิดช่องว่างรอยต่อ ช่วยป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปสะสม และช่วยเสริมความเรียบร้อยสวยงามได้ดี

2. ตัวจบ เก็บขอบกระเบื้องยาง

อุปกรณ์เสริมหลังปูกระเบื้องยาง ตัวจบเก็บขอบ

เป็นอุปกรณ์เสริมหลังปูกระเบื้องยาง ที่มีหน้าที่คล้ายกับบัวพื้น แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันกว่า 6 รูปแบบ เพื่อความเหมาะสมกับการใช้งานตามบริเวณที่แตกต่างกัน

สรุป

สรุปแล้ว ปูกระเบื้องยาง จะมีวิธีการติดตั้ง 2 แบบ คือแบบทากาว/ปูกาว (Dry Back) กับแบบคลิ๊กล็อค (Click Lock) ที่มีขั้นตอนการติดตั้งคล้ายกันบางข้อ เช่น การกำหนดทิศทางการปู และงานเก็บเศษที่ต้องวัดขนาดให้พอดีกับช่องว่าง และตัดจากแผ่นใหม่มาใช้

แต่ … ก่อนที่จะไปวิธีการปูกระเบื้องยางแต่ละแบบ คุณจำเป็นที่จะต้องเตรียมพื้นเดิมให้พร้อมก่อน ด้วยการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น และการปรับปรุงพื้นเดิมด้วยปูนปรับระดับ หากพื้นเดิมมีปัญหาครับ

บทความที่คุณอาจสนใจ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้